เอกเขนก

เป็นร้านหนังสือที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม เพื่อสร้างทางเลือกหรือทางออกให้กับการมีชีวิตที่ดีงาม ถ้าคุณอยากหาที่นั่งเล่นสบาย และฟังเพลงเบา ๆ หลังจากไปท่องเที่ยวตะลอนๆมาแล้ว ถ้าคุณอยากพบปะ พูดคุยกับเพื่อนใหม่ ๆ ที่สนใจเรื่องราวหลากหลาย ไม่ว่า หนังสือดี ๆ หนัง เพลง วัฒนธรรม และสังคม คุณจะไปที่ไหนในเชียงราย.. ร้านหนังสือขายกาแฟแชร์ชีวิต บนถนนพ่อขุนนำเสนอพื้นที่เย็นสบาย เล็ก ๆ แต่น่ารัก ที่นั่งสบาย ด้วยบริการเป็นกันเอง ลองมาค้นพบด้วยตัวคุณเองครับ

My Photo
Name:
Location: เชียงราย, Thailand

ผมชอบชีวิตสบายๆ เรียนรู้ผ่านการเล่น ทำงาน คบหาผู้คนให้เป็นครู ผ่านมิตรภาพที่เป็นกันเอง

Tuesday, October 20, 2009




ณัฐฬส วังวิญญู นักกิจกรรมเพื่อสังคม และวิทยากรอบรมกระบวนการเรียนรู้ สถาบันขวัญแผ่นดิน เล่าถึงวงสนทนาง่ายๆ ที่คนในสังคมไทยอาจมองข้าม

สุนทรียสนทนาไม่ใช่แค่การพูดคุยสนุกๆ เหมือนวงสนทนาทั่วไป แต่มีวิธีการพูดคุยเพื่อเผยความรู้สึกด้านใน แล้วจะมีประโยชน์อันใดกับชีวิต มาเปิดคาเฟ่คุยกันตรงนี้ดีกว่า...

ดื่มคาปูชิโนอุ่นๆ พร้อมเรื่องเล่าจากหัวใจในคาเฟ่เล็กๆ ของคุณย่าวัย 83 ปีในซานฟรานซิสโก อเมริกา เธอให้โอกาสคนที่แวะเวียนผ่านมาดื่มกาแฟ นั่งคุยเปิดพื้นที่ของหัวใจทุกวันอาทิตย์...

ณัฐฬส วังวิญญู นักกิจกรรมเพื่อสังคม และวิทยากรอบรมกระบวนการเรียนรู้ สถาบันขวัญแผ่นดิน เล่าถึงวงสนทนาง่ายๆ ที่คนในสังคมไทยอาจมองข้าม เพราะการพูดคุยลักษณะนี้เป็นการเรียนรู้การฟังกันอย่างลึกซึ้งและเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นและตัวเอง

“คุณรู้ไหม คาเฟ่บางแห่งในอเมริกาทำแบบนี้ คุณย่าเจ้าของร้านกาแฟที่ผมเล่าให้ฟัง เชิญให้ทุกคนที่เข้ามาวันอาทิตย์นั่งลง ดื่มกาแฟ แนะนำตัว มีป้ายวางบนโต๊ะว่า หนึ่ง...เราจะฟังกันอย่างลึกซึ้ง สอง...เราจะไม่ด่วนตัดสิน สาม...เราจะพูดเยิ่นเย้อกินพื้นที่ สี่...เราจะสนใจเรื่องที่พูดและรู้สึกต่อเรื่องนั้นจริงๆ” ณัฐฬส เล่าและมีเพื่อนที่ผ่านมาขอร่วมวงสุนทรียสนทนาในการสัมภาษณ์ด้วย เธอบอกว่า ทุกวันนี้มีคลับหรือชมรมเยอะขึ้น หรือการไปแดนซ์กลางคืน เพราะเราต้องการสังคม แต่เราไปยึดอย่างอื่นที่ไม่ใช่ด้านในตัวเอง

“ต้องหาที่ให้คนในสังคมยืน มีคนสนใจเรื่องพวกนี้นะ เพราะคนต้องการหาผู้ฟังเวลาพูด”

เหมือนเช่นที่เชียงรายมีกลุ่มวงน้ำชาของกลุ่มนักกิจกรรมสังคม เชื้อเชิญคนเชียงรายมาร่วมวง ณัฐฬสเองก็มีร้านหนังสือเอกเขนกของตัวเองในเชียงราย เป็นการทดลองเล็กๆ มีมุมกาแฟ มีที่นั่งเล่น

“ร้านหนังสือส่วนใหญ่เอาหนังสือล่อให้คนมาซื้อ แต่ผมเอาหนังสือล่อให้คนมาเจอกัน ต้องเข้าใจก่อนว่า กระบวนการเรียนรู้มีหลายวิธี มนุษย์เรียนรู้ตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ตัวเราอย่างเดียว แต่เป็นคนในวงสนทนา คำตอบอยู่ที่ตัวเรา ไอเดียและคำพูดจากวงสนทนานำไปพัฒนาตัวเองได้”

พื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือคนงานเล็กๆ เมื่อล้อมวงพูดคุยกัน บรรยากาศก็จะดูสบายๆ ผ่อนคลาย ณัฐฬสจัดกระบวนการการเรียนรู้ด้านในมานานกว่า 8 ปี เขาบอกว่า เน้นการเรียนรู้โลกด้วยใจ บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า สุนทรียะสนทนา เพราะคนทำกระบวนการ ต้องการให้คนเรากลับมารู้จักตัวเอง ทั้งร่างกาย ความรู้สึก ความสัมพันธ์กับคนอื่นและการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

กระบวนการสุนทรียสนทนาหลักๆ คือ สร้างพื้นที่ที่ทำให้คนรู้สึกปลอดภัยต่อความไว้วางใจ คุยแบบเปิดใจร่วมทุกข์ ไม่ต้องแยกพรรคพวก

"ทำมา 7-8 ปี คนที่ไม่เคยคุยกันเลย แต่พอมาอยู่ในวงนี้ก็เปิดใจ เราไม่ได้เริ่มจากปัญหา แต่เริ่มจากเรื่องที่พวกเขารู้สึกดีๆ ไม่ว่าเรื่องราวการเดินทาง ชีวิตที่ผ่านมา การต่อสู้ ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ คนที่มีบุญคุณกับเขา คนไม่ได้เรียนจบปริญญาตรีมักจะมีเรื่องราวต่างๆ ที่พอนึกถึงหรือเล่าออกมาแล้วจะรู้สึกดีๆ" ณัฐฬส เล่าถึงกระบวนการที่ไม่ได้เริ่มจากปัญหาคับข้องใจ

“บางคนทำงานด้วยกันกว่าสิบยี่สิบปี ไม่เคยคุยกันมาก่อน บางคนไม่รู้ว่าเพื่อนที่ทำงานมีพี่น้องกี่คน การเรียนรู้แบบนี้ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ต้องอาศัยพลังกลุ่มในการขับเคลื่อน เมื่อคนหนึ่งเริ่มเปิด อีกคนก็จะเปิดใจตาม”

กระบวนการสุนทรียสนทนา จึงไม่ใช่การอบรมโดยวิทยากรให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแสดงความคิดและความรู้สึกร่วมกัน ไม่ตัดสินว่าใครผิดหรือถูก โดยมีวิทยากรคอยแนะนำในบางครั้ง

“ผมใช้คำว่าให้เกียรติกัน เพราะเวลาเราทำงานในองค์กร เราคาดหวังกันเยอะ แต่ไม่ค่อยให้เกียรติกัน และแนวคิดที่ว่าคุณค่าของคนอยู่ที่ผลของงานเป็นช่วงของการสร้างชาติ ทำให้คนเอาตัวเองไปฝากไว้ที่คุณค่าของงาน เราอยู่ในโลกที่เราต้องสัมพันธ์กัน เราต้องให้ค่ากัน เพราะเราเป็นมนุษย์ และไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ มนุษย์มีความเก่งไม่เหมือนกัน บางคนก็ชุ่ย บางคนไม่ได้เรื่อง แล้วเราจะท้าทายความแตกต่างได้อย่างไร”

สิ่งที่ณัฐฬสย้ำคือ ต้องกล้ามองตัวเอง จริงๆ เราเปลี่ยนตัวเองได้ คนที่ชอบตำหนิคนอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องมุ่งมั่นตำหนิคนตลอดเวลาเพราะความนเคยชิน

“เหมือนเราโตมากับค้อน ก็ใช้แต่ค้อนหรือ”

เรียนรู้อดีตเข้าใจตัวเอง

อดีตคือ รอยร้าวในใจที่ณัฐฬส เชื่อมโยงให้เห็นว่า ต้องเยียวยาอดีตก่อน วิธีการคือ ต้องรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อทำให้คนเห็นภาพตัวเอง หลายคนวิ่งหนีอดีต บางคนเป็นเด็กกำพร้า บางคนเพื่อนไม่ยอมรับ นำไปสู่ความรุนแรง

“ผลจากอดีตคือ การโทษตัวเอง โทษคนอื่น โทษพ่อแม่ อันนี้คือกรรมนะ แล้วเดี๋ยวนี้ภาษาคำว่าแก้กรรม เยอะมาก ถ้าคุณจะแก้กรรม ต้องเยียวยาอดีต แค่นั้นแหละคุณเปลี่ยนชีวิตได้”

การทำกระบวนการลักษณะนี้ต้องทำความเข้าใจกับหลักจิตวิทยา ศาสนา ศิลปะและการภาวนา ณัฐฬส บอกว่า คนบางส่วนไม่มีความเชื่อหรือศรัทธาใดๆ ต่อศาสนา เพราะคนสมัยนี้ไม่ได้สนใจที่จะฟังภาษาธรรม

"ต้องมีภาษาที่สื่อสารกับชีวิตเขาได้ ถ้าบอกว่าต้องมีศีล ต้องทำความดี แต่ผมอยากบอกว่า เรื่องเหล่านี้คนรู้อยู่แล้ว มันจะไม่ผลกระทบต่อเขา สิ่งที่มีผลกระทบคือสิ่งที่เขารู้สึก คนที่เขารัก ลูก และครอบครัว ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทุกอย่างในชีวิตก็เปลี่ยน อีกอย่างการรับฟังไม่ใช่การเชื่อตาม เป็นการแชร์ความรู้สึก เป็นกระบวนการเรื่องเล่า คนที่มีเรื่องเล่าแบบเดิมๆ ก็สร้างสรรค์โลกแบบเดิมๆ"

และไม่ใช่ว่า ร่วมกระบวนการเรียนรู้ไม่กี่ครั้ง จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ทันที กระบวนการทั้งหมดอยู่ที่การเรียนรู้ด้านในของแต่ละคนในการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น

“ต้องสร้างสังฆะการสนทนาในองค์กรอย่างต่อเนื่องให้ได้ เพราะโลกของความทรงจำอยู่ในจิตไร้สำนึก เวลาดึงโลกของเราออกมา ส่วนใหญ่จะอยู่ในบทสนทนา” ณัฐฬส เล่าถึงการฝึกฝนตัวเองในลักษณะนี้ ต้องมีสติในการพิจารณา ถ้าเราเชื่อว่า เราทำได้ เราก็จะทำ แต่ถ้าเราเชื่อว่า เราทำไม่ได้ เราก็จะไม่ทำ

“หลายองค์กรที่ผมจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในแง่ความยั่งยืน เพราะคิดว่า ทำเวิร์คชอปแล้วจะได้ผลทันที ทำเรื่องพวกนี้เหมือนการกินข้าว ต้องทำอยู่เรื่อยๆ”

แม้การจัดกระบวนการเรียนรู้ขององค์กรธุรกิจและองค์กรเพื่อสังคมจะต่างกัน แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ ต้องการชีวิตที่ดีไม่ต่างกัน

“ผมอยากจัดรีทรีทให้ครูมาวิเวกอยู่กับตัวเอง หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมแปลตอนนี้เรื่อง 'กล้าสอน' คนแปลคนนี้เคยจัดรีทรีทให้ครูสามสิบคน สามเดือนครั้ง เป็นเวลาสองปี ปรากฏว่า จิตวิญญาณของครูกลับคืนมา การแลกเปลี่ยนความรู้สึกโลกภายในของครู พวกเขาได้ทั้งแรงบันดาลใจในการสอนและสร้างสรรค์ ซึ่งครูส่วนใหญ่ในอเมริกา เต็มไปด้วยเรื่องการเหยียดสีผิว อาวุธปืน ความรุนแรง ผมก็เลยบอกครูที่ผมไปจัดเวิร์คชอปว่า ผมอยากมาทำแบบนี้บ้าง” ณัฐฬส เล่า เพราะอาชีพครูสามารถสร้างผลกระทบให้กับคนในสังคมได้มาก

ล้วงลึกความเป็นมนุษย์

นอกจากแนวคิดเรื่องสุนทรียสนทนาที่ทำให้คนเมือง ทั้งองค์กรธุรกิจ องค์กรสาธารณสุข ครูสอนหนังสือแล้ว ณัฐฬส ยังมีแนวคิดเรื่องการจัดกระบวนการให้เยาวชนกระทำผิด

“ผมยังไม่ได้ทำงานกับเยาวชนกลุ่มนี้ เด็กส่วนใหญ่ทำไม่ดี เพราะต้องการการยอมรับ มีความเจ็บปวดและถูกบีบคั้น ต้องทำให้เขาให้อภัยตัวเองก่อน ส่วนใหญ่เยาวชนจะทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ชกต่อย ลักเล็กขโมยน้อย ฆ่าคนมีน้อยมาก”

กระบวนการล้วงลึกความเป็นมนุษย์สามารถช่วยเยียวยาได้ ณัฐฬสเคยคุยกับคนทำงานในศาล ซึ่งเห็นด้วยกับงานของเขา เนื่องจากการจองจำเยาวชนที่ทำผิดต้องใช้งบประมาณปีหนึ่งกว่าสามหมื่นบาท ถ้าให้มาเข้าคอร์สเปลี่ยนแปลงตัวเองใช้งบประมาณไม่กี่พันบาท

เหมือนที่เกริ่นนำตั้งแต่แรกว่า ไม่ใช่วงสนทนาที่วิจารณ์ซึ่งกันและกัน แต่เป็นกระบวนการจากด้านใน มีช่วงของการภาวนา เพื่อเปิดพื้นที่ในหัวใจ ณัฐฬสบอกว่า ไม่ได้ต้องการให้พูดคุยธรรมดา แต่เป็นการพูดคุยล้วงลึกสืบค้นความเป็นมนุษย์ในตัวเรา ต้องอาศัยความกล้าและความสงบ

“เหมือนการภาวนาเพื่อให้เกิดการพูดจากข้างใน ซึ่งเราจะใช้ผัสสะทุกอย่าง ทั้งศิลปะ ดนตรี การวาดรูป ภาวนา และสมาธิ เพื่อให้เกิดความรู้สึก เพราะการเข้าสู่พื้นที่ในหัวใจ ไม่ได้ผ่านความรู้ ต้องผ่านความรู้สึก” ณัฐฬส บอกและให้เหตุผลว่า ชีวิตคนเราผ่านการเรียนรู้ภาคบังคับมาเยอะ

"ระบบการศึกษาถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนามนุษย์ แต่ไม่ได้เริ่มต้นจากสิ่งที่เราเป็น มันฉุดกระชากวิญญาณ เลือกเฉพาะคนเก่ง มันทำลายจิตวิญญาณมนุษย์"

เพราะเขามีความเชื่อต่างจากคนในสังคม จึงมั่นใจว่า คนในสังคมสร้างสิ่งดีๆ ได้ จัดสรรสิ่งแวดล้อมให้ดีกับเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติได้

“คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า เรามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เชื่อตัวเองว่าหาเงินได้ ผมอยากเห็นสังคมที่เป็นเพื่อนกันและเคารพความเป็นมนุษย์”

...........................